ส่งออกไปญี่ปุ่น ยากหรือง่าย??

ผมเคยผลิตและส่งสินค้าไปที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อนก่อนที่ค่าเงินเยนจะอ่อนลงมาก การที่จะส่งสินค้าไปที่ญี่ปุ่นนั้นเรียกว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นกับลูกค้ามีประสบการณ์ซื้อสินค้าประเภทนั้นๆหรือไม่ เพราะทางญี่ปุ่นจะกำหนดสเปคสินค้าค่อนข้างละเอียดมากทำให้เราต้องทำตามที่เขากำหนดมาทั้งหมด ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าผู้ซื้อไม่เข้าใจเรื่องสินค้าและกำหนดสเปคมาละเอียดแบบทำยาก หรือเป็นไปไม่ได้ หรือน่าจะเกินจำเป็น ก็ต้องมาปรับความเข้าใจกันหลายครั้งก่อนจะสรุปและเสนอราคา

ราคาขายที่ญี่ปุ่นนั้นสูงเพราะค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูงในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นลูกค้าจะให้ทางเราจัดการเรื่องการแพ็คกิ้งให้ดี ส่วนมากจะต้องมีพาเลทและ wrapping & latching ให้ดีเพื่อให้เอาสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ได้ง่าย
ผมได้มีโอกาสรู้จักคนที่ทำส่งออกไปญี่ปุ่นหลายๆคนก็พูดเช่นเดียวกัน สินค้าที่ผมเคยได้ไปสัมผัสก็มีเช่น ปลาสวยงามและตะพาบน้ำส่งออกทางเครื่องบินไปญี่ปุ่น สินค้าพวกอาหารสัตว์ เช่นชานอ้อยหมักอัดก้อน อาหารสัตว์อัดเม็ด และเครื่องจักร เป็นต้น

ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นทางตะวันออกกลางและจีนที่ได้ราคาดีกว่าญี่ปุ่นและไม่ค่อยเรื่องมากเรื่องสเปคเท่าญี่ปุ่น แต่ทางจีนเองถ้าเห็นว่าดีก็จะมาตั้งโรงงานหรือโกดังรับซื้อโดยตรงในไทยซึ่งผมก็เห็นเยอะขึ้นมากในช่วงหลายปี สินค้าที่ตอนนี้จะขายได้ส่วนมากต้องเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่นแปรรูปเบื้องต้นแล้ว หรือเป็นสินค้า Premium เพราะลูกค้าตลาด premium ส่วนใหญ่ไม่เน้นเรื่องราคาแต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพที่สม่ำเสมอ (ไม่ดีไม่แย่กว่าเดิม คุณภาพในล็อตสม่ำเสมอ) และเป็นกลุ่มลูกค้าที่มี Royalty ดีกว่ากลุ่มที่เน้นของถูก

สำหรับผมแล้วการทำตลาดต่างประเทศไม่ได้แตกต่างจากการทำตลาดในประเทศมากมายอะไร แต่ก็ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ดีเท่านั้น ปกติผมจะต้องเข้าใจว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปนั้นเอาไปขายต่ออย่างไรจะได้แนะนำได้ถูก เพราะบางคนนำเข้าไปใช้ในร้านอาหารของตัวเอง บางเจ้านำเข้าไปวางบนห้าง บางเจ้าเอาไปวางร้านขายปลีก ซึ่งการทำ packaging และรายละเอียดต่างๆต่างกัน

อีกสิ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆด้วย ผมเคยพาคนประเทศมุสลิมไปสั่งอาหารร้านธรรมดากิน สุดท้ายสั่งมาหมดแล้วต้องย้ายร้านเพราะเขากินไม่ได้ หรือแม้กระทั่งส่งการ์ดอวยพรวันคริสมาสต์และปีใหม่ (Happy Christmas and Happy New Year) ไปให้คนมุสลิมก็โดยเขียนกลับมาว่าเขาไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ เป็นต้น

แต่คนประเทศก็ต่างวัฒนธรรมกัน การต่อรองราคาของแต่ละประเทศก็ต่างกัน บางประเทศทางตะวันออกกลางก็ต่อรองกันเอาจริงเอาจังมาก นั่งประชุมต่อรองกันเป็น 2-3 ชั่วโมงไม่ยอมเลิก แต่ต่อรองเสร็จก็ทำธุรกิจร่วมกันยาวนานครับ ก็ต้องเข้าใจส่วนนี้ของแต่ละประเทศก่อน บางประเทศเช่น กรีซ ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องการเงินในประเทศ) เป็นประเทศที่ผมค้าขายด้วยมากเป็นอันดับต้น ผมชอบประเทศนี้เพราะไม่เรื่องมากทุกคนเลยที่ผมรู้จัก (เกิน 10 เจ้า) บางคนโอนเงินให้ 100% ก่อนส่งออก FCL ให้เขาอีกแถมไม่ค่อยจะต่อราคาด้วย คนออสเตรเลียก็ไม่ค่อยจะต่อราคาครับ

สรุปคือใครต้องการให้แนะนำอะไรก็ยินดี ผมคุยและค้าขายกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมาหลายพันคน (เพราะรายชื่อคนติดต่อผมมีรวมๆหลายพันคนที่เคยคุย)

สำหรับคนที่ต้องการส่งออกก็แนะนำว่าลองศึกษาคนในประเทศนั้นๆดูครับ การขายสินค้าจริงๆก็ไม่ต่างจากขายในประเทศแต่ก็ต้องรู้ข้อมูลหลายๆเรื่องทั้งเรื่องพิธีการส่งออก เอกสารที่เกี่ยวข้อง การโอนเงิน ฯลฯ แต่โลกปัจจุบันนั้นทุกอย่างง่ายและเร็วขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ถ้าเราขายด้วยความซื่อสัตย์ยังไงลูกค้าก็ยังกลับมาซื้อจากเราหรือติดต่อเราแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ปล.ราคามะม่วงน้ำดอกไม้ที่ญี่ปุ่นลูกละ 200 กว่าบาท มังคุดก็แพงมากเท่าๆกับลูกฟิกซ์สด คนญี่ปุ่นชอบกินมังคุดมากครับ มาเมืองไทยก็ชอบให้พาไปกินผลไม้

Leave a Reply

Your email address will not be published.